ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายไปก่อนลูกหนี้ผิดนัด หน้าที่ความรับผิดชอบไม่ตายตามไปด้วย!
- รายละเอียด
- หมวด: อรรถรสคดี
- เผยแพร่เมื่อ: วันพฤหัสบดี, 13 มกราคม 2565 14:39
- เขียนโดย adminc6
- ฮิต: 187

ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายไปก่อนลูกหนี้ผิดนัด หน้าที่ความรับผิดชอบจะเป็นอย่างไร?
ในปัจจุบันปัญหาข้อกฎหมายในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับเรื่อง กู้ยืม ค้ำประกัน เกิดคดีขึ้นสู่ชั้นศาลค่อนข้างมาก เนื่องจากประชาชนทั่วไปมีความจำเป็นในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ หรือกู้ยืมเงินในภาคธุรกิจเพื่อนำเงินทุนมาใช้ในประกอบกิจการ เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมเกิดขึ้นเมื่อได้ทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคแรก และหากผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายก่อนลูกหนี้ผิดนัด ประชาชนหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าสิทธิหน้าที่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่มีอยู่นั้น จะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้ค้ำประกันหรือไม่ เราจึงต้องมาศึกษาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินกู้ยืม 40,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วในวันทำสัญญา หนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 และ ส. ผู้ค้ำประกันย่อมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นตามมาตรา 680 วรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ จึงถือได้ว่าเป็นความผูกพันต่อเจ้าหนี้ในทางทรัพย์สินเท่านั้น ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดต่อเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปตามมาตรา 698 แม้ภายหลังทำสัญญาค้ำประกันจะได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาในการชำระหนี้ตามสัญญาเป็นข้อสำคัญอีกต่อไป อันมีความหมายว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดในเวลาต่อมา และโจทก์บอกเลิกสัญญา ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ ส. ถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อหนี้กู้ยืมดังกล่าวยังคงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนวันที่ ส.จะถึงแก่ความตาย และสัญญาค้ำประกันหาได้ระงับไปเพราะความตายของ ส. ไม่สิทธิหน้าที่และความรับผิด สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆตามสัญญาค้ำประกันที่ ส. ทำกับโจทก์จึงเป็นกองมรดกของผู้ตายและตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนที่มีและได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ ส. ตามมาตรา 1734 และ 1737 (แนวคำพิพากษาศาลฎีกา 5763/2562)
ดังนั้นเมื่อผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายไปก่อนลูกหนี้ผิดนัด สิทธิหน้าที่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทของผู้ค้ำประกัน
เขียนโดย ทนายโอ๋
ช่องทางติดต่อ
โทร : 094-303-9999
Line : @cplawfirm https://lin.ee/vNHJvss
Facebook : สำนักงานทนายความ ฉัตรประพล แย้มเพริศศรี CP Law
Youtube :
https://www.youtube.com/c/Chatprapolyamproadsri/videos
Twitter : https://twitter.com/cp_lawfirm
Instragram : @cplawfirm https://www.instagram.com/cplawfirm/